เคยรู้สึกไหมว่าโฆษณาบน Facebook หรือ Instagram บางทีก็เหมือนรู้ว่าคุณกำลังคิดอะไรอยู่ เช่น เพิ่งคุยกับเพื่อนว่าอยากซื้อรองเท้าคู่ใหม่ โฆษณารองเท้าก็โผล่มาแบบทันใจจนอดสงสัยไม่ได้ว่า มือถือแอบฟังเราอยู่หรือเปล่า
โฆษณารู้ใจคุณได้อย่างไร
สิ่งที่ทำให้โฆษณา “รู้ใจ” คุณได้แบบนี้ก็คือ ข้อมูลดิจิทัล (Digital Footprint) ที่คุณทิ้งไว้ทุกครั้งที่ใช้อินเทอร์เน็ต เช่น
- การค้นหาบน Google
- การกดไลก์หรือแชร์โพสต์ใน หรือการ active ต่อ feed ต่างๆ บน Facebook
- การเยี่ยมชมเว็บไซต์ต่างๆ
- ข้อมูลจากแอปพลิเคชันที่คุณลงชื่อเข้าใช้ด้วยบัญชี Google หรือ Facebook
- ความชอบของเพื่อนสนิทในโซเชียลมีเดีย ที่อาจจะชอบในกิจกรรมต่างๆ คล้ายคุณ
- Location ที่คุณเคยผ่าน หรือ เพื่อนของคุณเคยผ่านแล้วบรรจบกัน
ตัวอย่างที่ทำให้คุณเข้าใจผิดว่า “มือถือแอบฟังคุณ”
- คุณพูดเรื่องซื้อรถใหม่ และบังเอิญว่าก่อนหน้านี้คุณเคยค้นหาข้อมูลรถยนต์หรือเข้าเว็บไซต์เกี่ยวกับรถยนต์ ระบบจึงแสดงโฆษณาให้ทันที
- บางครั้ง เพื่อนของคุณที่เชื่อมโยงกับบัญชีของคุณมีความสนใจเรื่องนั้น ระบบอาจคิดว่าคุณสนใจด้วย
เทคโนโลยี Machine Learning และระบบโฆษณาอัจฉริยะ
ระบบจะวิเคราะห์พฤติกรรมของคุณ เช่น ถ้าคุณค้นหา “ที่พักทะเล” หรือ “โปรแกรมเที่ยวหัวหิน” ระบบก็จะเข้าใจว่าคุณสนใจเที่ยวทะเล และจัดโฆษณาที่เกี่ยวข้องมาแสดงให้คุณดู หรือ แม้ว่าคุณจะไม่เคยค้นหาสิ่งนั้น แต่เพื่อนสนิทของคุณหลายๆ คนเคยค้นหา แล้วบังเอิญคุณและเพื่อนคุณมาเจอกัน โฆษณาก็จะปรากฏให้คุณเห็น เพราะคิดว่าคุณน่าจะสนใจสิ่งเดียวกัน

ไม่จริงหรอก เห็นข่าวต่างประเทศบอกว่าโทรศัพท์แอบฟังเราจริงๆ
คุณอาจเคยได้ยินเรื่องเทคโนโลยีที่แอบฟังบทสนทนาของเราเพื่อแสดงโฆษณาให้ตรงเป้าหมาย หนึ่งในประเด็นที่ทำให้คนพูดถึงกันมากคือโปรแกรมที่ชื่อว่า “Active Listening” ซึ่งถูกเปิดเผยในเอกสารสไลด์ของ Cox Media Group (CMG)
Active Listening คืออะไร
Active Listening อ้างว่าใช้ไมโครโฟนของอุปกรณ์ เช่น มือถือหรือสมาร์ทโฟน เพื่อฟังบทสนทนาในสภาพแวดล้อมรอบตัวคุณ จากนั้นเทคโนโลยีจะดำเนินการต่อไปนี้
- วิเคราะห์เสียงเพื่อระบุว่าคุณกำลังพูดถึงอะไร
- รวมข้อมูลนี้เข้ากับพฤติกรรมออนไลน์ของคุณ
- แสดงโฆษณาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
CMG ยังอ้างว่ามีการร่วมมือกับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น Amazon, Facebook, และ Google เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ ซึ่งเป็นที่มาของความกังวลว่าเราถูก “แอบฟัง” จริงหรือเปล่า
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ Active Listening
แม้จะมีการกล่าวอ้างเหล่านี้ แต่บริษัทอย่าง Facebook และ Google ต่างปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้เทคโนโลยี Active Listening เพื่อฟังบทสนทนาของผู้ใช้ พวกเขายืนยันว่าข้อมูลโฆษณาทั้งหมดได้มาจากกิจกรรมออนไลน์ เช่น การค้นหา การกดไลก์ หรือการเยี่ยมชมเว็บไซต์ ไม่ใช่จากการฟังบทสนทนา
จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า Active Listening ถูกใช้งานจริงหรือสามารถฟังผู้ใช้ได้ตามที่อ้าง และบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ก็ยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนร่วมกับเทคโนโลยีนี้แต่อย่างใด
คุณจะปกป้องความเป็นส่วนตัวได้อย่างไร
แม้ว่าจะยังยืนยันไม่ได้ว่าโทรศัพท์แอบฟังคุณ แต่การใช้ข้อมูลแบบนี้ อาจทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัย ดังนั้น ลองใช้วิธีเหล่านี้เพื่อปกป้องตัวเองดูนะครับ
1. ตรวจสอบและตั้งค่าความเป็นส่วนตัว
- ไปที่การตั้งค่าความเป็นส่วนตัวใน Facebook และ Google แล้วเลือกจำกัดข้อมูลที่พวกเขาสามารถใช้ได้
- ปิด “Personalized Ads” หรือโฆษณาที่ปรับตามพฤติกรรม
2. ลบประวัติการค้นหาและคุกกี้เป็นประจำ
- การล้างข้อมูลเหล่านี้ช่วยลดการติดตามของระบบโฆษณา
3. ใช้แอปหรือปลั๊กอินป้องกันการติดตาม (Ad Blocker)
- แอปเหล่านี้ช่วยลดการแสดงโฆษณาที่เจาะจงพฤติกรรมของคุณ
4. อย่าให้แอปเข้าถึงไมโครโฟนหรือข้อมูลเกินความจำเป็น
- ตรวจสอบว่าแอปไหนที่เข้าถึงไมโครโฟนหรือข้อมูลส่วนตัว แล้วปิดสิทธิที่ไม่จำเป็น
แล้วคุณล่ะ เคยเจอโฆษณาที่ทำให้คิดว่าถูก “แอบฟัง” บ้างไหม?
บทความที่เกี่ยวข้อง: การประยุกต์ใช้ AI ในโลกการตลาด
ที่มา: LinkedIn