ตัวอย่างการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี e-KYC

Examples of e-KYC technology in action

บทความนี้จะเป็นตัวอย่างของการนำ เทคโนโลยีการยืนยันตัวตน มาประยุกต์ใช้งานในปัจจุบันซึ่งมีอยู่หลายรูปแบบ และ e-KYC ก็เป็น 1 ในนั้น เราจะมาดูกันว่า e-KYC คืออะไร และนำไปใช้ยืนยันตัวตนในขั้นตอนใดบ้าง

e-KYC มีพัฒนาการมาจากคำว่า KYC ย่อมาจาก Know Your Customer หากแปลเป็นไทยอย่างตรงตัวก็คือ “กระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า” ที่ช่วยในการระบุและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง ส่วน e-KYC ก็คือ กระบวนการยืนยันตัวตนของลูกค้า ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์นั่นเอง

ในประเทศไทย e-KYC ได้รับความนิยมและมีการใช้งานกันอย่างแพร่หลาย หลายๆ กิจกรรมรอบตัวของเรา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของออนไลน์ การสแกนจ่ายค่าสินค้า การโอนเงิน ก็จะมีขั้นตอนที่เป็น e-KYC อยู่ด้วย เพื่อยืนยันว่าเราคือเจ้าของบัญชีตัวจริง  และไม่ต้องโทรติดต่อเจ้าหน้าที่ หรือเดินทางไปยังสาขาของธนาคารให้เสียเวลา

e-KYC ประกอบด้วย 2 ขั้นตอนหลัก

  1. การระบุตัวตน (Identification) คือการที่ผู้ให้บริการขอข้อมูลและหลักฐานเพื่อใช้ระบุตัวตนของผู้ใช้บริการ เช่น บัตรประจำตัวประชาชน เบอร์โทรศัพท์ อีเมล
  2. การยืนยันตัวตน (Verification) คือการตรวจสอบว่าผู้ใช้บริการเป็นคนเดียวกับที่เคยเปิดใช้บริการและพิสูจน์ตัวตนไว้ในครั้งก่อนหรือไม่ เช่น log in เข้าใช้งานบัญชีที่เคยสร้างไว้ กรอกรหัสผ่านที่เคยตั้งไว้ ขอรับรหัส OTP ทาง SMS ผ่านเบอร์โทรศัพท์ที่เคยลงทะเบียนไว้ หรือใช้วิธีสแกนใบหน้าเพื่อเข้าใช้งานแอปพลิเคชัน เป็นต้น

เราลองมาดูเคสตัวอย่างประกอบเพื่อให้เข้าใจมากขึ้น  จากขั้นตอนการเปิดบัญชีธนาคาร ผ่านทางแอปพลิเคชัน K+ ของธนาคารกสิกรไทย

ตัวอย่าง e-KYC ในการสมัครใช้งานแอปพลิเคชันและเปิดบัญชีธนาคาร

หลังจากที่เรา Download Application และเริ่มต้นใช้งาน จะมีขั้นตอนดังนี้

  1. กรอกหมายเลขบัตรประชาชน หรือ เลขหนังสือเดินทาง และ วัน เดือน ปีเกิด
  2. กดเลือกประเภทบริการที่ต้องการ จากเคสนี้ เราเลือกเปิดบัญชีออมทรัพย์ (eSaving)
  3. กรอกข้อมูลผู้สมัครให้ครบถ้วน
  4. เลือกวิธีการยืนยันตัวตนเพื่อเปิดบัญชี เราจะเลือกการยืนยันตัวตนด้วยบัตรประชาชน
  5. นำบัตรประชาชนไปยืนยันที่จุด K-Check ID เช่น ตู้เอทีเอ็มของธนาคาร
  6. กลับมาที่แอป K+ เพื่อสแกนใบหน้า
  7. กำหนดรหัสผ่าน
  8. รอรับผลการสมัครทางแอปพลิเคชันและ SMS

จากขั้นตอนทั้งหมด เราจะเห็นว่ามีขั้นตอนของการระบุตัวตน (Identification) อยู่ในลำดับที่ 1, 3, 6 และ 7
และมีการยืนยันตัวตน (Verification) ด้วยข้อมูลบัตรประชาชน (ที่เรากรอกในขั้นตอนที่ 1)  ผ่านทางจุดให้บริการที่กำหนดไว้

เพิ่มเติมอีกสักนิด จะเห็นว่าเรามีการระบุตัวตนในแอปพลิเคชันตั้งหลายขั้นตอน แต่มีการตรวจสอบเพียงแค่บัตรประชาชนเพียงอย่างเดียว แล้วข้อมูลอื่นๆ จะนำไปใช้ตอนไหนกันบ้าง

การระบุตัวตนวิธีการยืนยันตัวตนตัวอย่างการใช้งาน
1. ข้อมูลบัตรประชาชนจุดบริการ K-Check IDเปิดบัญชีธนาคาร
3. ข้อมูลส่วนบุคคล – เบอร์โทรศัพท์OTP (One Time Password)แก้ไขข้อมูลส่วนบุคคล
6. สแกนใบหน้าFacial Recognitionทำธุรกรรม ที่มีจำนวนเงินมากกว่า 50,000 บาท
7. กำหนดรหัสผ่านPasswordเข้าใช้งาน, ทำธุรกรรมทั่วไป
ตารางสรุปการนำข้อมูลระบุตัวตนไปใช้งาน

ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ ว่าเราสามารถนำ e-KYC ไปประยุกต์ใช้งานอย่างไรได้บ้าง

ข้อดีของ e-KYC

✔ ผู้ให้บริการสามารถเก็บข้อมูลจากผู้ขอใช้บริการได้อย่างรวดเร็วผ่านช่องทางออนไลน์ ผู้ใช้บริการจึงไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปยังสถานที่ของผู้ให้บริการ

✔ เป็นการเก็บข้อมูลแบบอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ต้องส่งต่อเอกสารในรูปแบบกระดาษ ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูลและลดการใช้กระดาษ

✔ ข้อมูลได้รับการเข้ารหัสและเก็บรักษาอย่างปลอดภัย จึงลดความเสี่ยงในการเข้าถึงข้อมูลอย่างไม่เหมาะสม

✔ ป้องกันการทุจริตทางการเงินและการฟอกเงิน

ทุกวันนี้ e-KYC เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว โดยเฉพาะการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารต่างๆ ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้การทำธุรกรรมสะดวกและรวดเร็วขึ้น แถมยังป้องกันการถูกปลอมแปลงตัวตนจากบรรดามิจฉาชีพได้อีกด้วย นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยี e-KYC มาใช้ ยังสร้างความมั่นใจและลดความเสี่ยงให้กับสถาบันการเงินที่ให้บริการทำธุรกรรมออนไลน์แบบไม่พบหน้าลูกค้าอีกด้วย เพราะ e-KYC จะช่วยให้รู้จักตัวตนของผู้ขอใช้บริการมากขึ้น

ที่มา:

https://ginkgosoft.co.th/digital-transformation/e-kyc/

https://www.dittothailand.com/dittonews/gov-what-is-e-kyc/

ภาพ: Freepik

    wpChatIcon