คาร์บอนเดรคิตคืออะไร

ปัจจุบันโลกของเราประสบปัญหาภาวะเรือนกระจก (Greenhouse effect) ที่ทำให้ผิวโลกมีภาวะสมดุลทางอุณหภูมิผิดปกติ เกิดจากก๊าซเรือนกระจกเช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ และ สารซีเอฟซี ที่มาจากมนุษย์เราเสียเป็นส่วนใหญ่ ก๊าซเหล่านี้สะท้อนคลื่นความร้อนสูง ทำให้อุณหภูมิโดยรวมสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศทั่วโลกแปรปรวน และถ้าไม่มีการควบคุมตั้งแต่วันนี้อนาคตจะส่งผลร้ายต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมด

หลายๆ ประเทศทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงปัญหาภาวะเรือนกระจกเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการทำข้อตกลงร่วมกันเพื่อลดปัญหานี้ โดยประเทศต่างๆ ได้ตั้งเป้าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่กำหนดเป้าหมายไว้ที่ปี ค.ศ. 2050 ส่วนประเทศไทยกำหนดเป้าหมายไว้เป็นสองระยะ คือระยะกลาง ตั้งเป้าความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) คิดเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ในปี ค.ศ. 2050 และระยะยาว ในปี ค.ศ. 2065 ตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

ภาพจาก Freepik

สำหรับประเทศไทยมีหน่วยงานชื่อ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เป็นองค์การมหาชน ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่เป็นหน่วยวิเคราะห์ กลั่นกรอง และรับรองโครงการ

คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) คือ จำนวนคาร์บอนที่หนึ่งบริษัทสามารถปล่อยออกสู่อากาศต่อปี โดยมีจำนวนจำกัด และบังคับให้น้อยลงทุกปี หากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ก็สามารถนำส่วนต่างของค่าคาร์บอนเครดิต ไปขายให้กับบริษัทอื่นๆ ได้

วิธีการคิดคาร์บอนเครดิต สามารถทำได้โดยการคำนวณ คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือปริมาณรวมของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์หรือบริการ (ตามข้อกำหนด ISO14040) ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ซึ่งแหล่งกำเนิดของก๊าซดังกล่าวมาจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้เชื้อเพลิง กระบวนการภาคอุตสาหกรรม

สูตรการคำนวณคือ 1 carbon credit = 1 ton CO2e avoided / removed

carbon credit calculation

ดังนั้น ตลาดคาร์บอน (Carbon Market) จึงถูกตั้งขึ้นเพื่อทำการซื้อขายและแลกเปลี่ยนคาร์บอน เพื่อนำไปใช้ในการบรรลุเป้าหมายขององค์กรที่กำหนดไว้ หรือเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนเมื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ

ตลาดคาร์บอนมีอยู่ 2 ประเภทคือ

  1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ เป็นผลจากการบังคับใช้กฎหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีรัฐบาลเป็นผู้ออกกฎหมาย และกำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หากผู้เข้าร่วมในตลาดไม่ปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะถูกลงโทษทางกฏหมาย
  2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ เป็นการดำเนินการขององค์กรที่มีเป้าหมายด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ แต่ไม่ได้มีผลทางกฎหมาย ประเทศไทยก็อยู่ในตลาดนี้เพราะปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (อยู่ในระหว่างการจัดทำร่างกฎหมาย)

สำหรับคาร์บอนเครดิตที่จะผ่านการซื้อขายได้ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นข้อเสนอโครงการและขอขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตกับอบก. จากนั้นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอกก่อน

เมื่อต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต ผู้ประกอบการต้องยื่นขอเปิดทะเบียนบัญชีซื้อขายกับ อบก. จากนั้นผู้ซื้อและผู้ขายสามารถเจรจาซื้อขายกันได้โดยตรง และหลังจากเกิดการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว อบก.ก็จะถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังผู้ซื้อ

ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยขยายตัวขึ้นมาก จากข้อมูลในปี 2022 มีการขยายตัวถึง 425% เมื่อเทียบกับปี 2021 แต่ตลาดซื้อขายคาร์บอนในไทยก็ยังถือว่าเป็นขนาดเล็กมาก และราคาก็ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับตลาดภาคบังคับในต่างประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการควรเตรียมความพร้อม และเริ่มดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจก รวมถึงซื้อขายคาร์บอนเครดิตในช่วงที่ราคาคาร์บอนเครดิตในตลาดยังไม่สูงมากนัก ทั้งนี้การซื้อคาร์บอนเครดิตจะช่วยลดต้นทุนในโครงการลดก๊าซเรือนกระจกลงได้มากเมื่อเทียบกับการดำเนินโครงการด้วยตัวเองเพียงอย่างเดียว

ที่มา:

Thailand Environment Institute

https://greenlifeplusmag.com/

Krungthai Compass

ภาพ: Freepik

    wpChatIcon