ปัจจุบันภาวะโลกร้อนหรือการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) มีผลกระทบและความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทำให้ทั่วโลกเริ่มเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ประเทศไทยก็ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานสะอาดเช่นกัน ซึ่งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่างก็กำลังเร่งปรับตัว
Climate Change ถือว่าเป็นวิกฤตต่อภาคการผลิตเพราะทำให้ต้องลงทุนในเรื่องต่างๆ เช่น ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการผลิตและการใช้เครื่องจักร เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ หรือต้องลงทุนสำหรับการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ต้องใช้เงินลงทุนสูง ทำให้กลายเป็นต้นทุนการผลิตสินค้าตามมา แนวคิดเรื่องการผลิตที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Manufacturing จึงเกิดขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหานี้
“การผลิตที่ยั่งยืน” ตามคำนิยามของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริการะบุไว้ว่า คือการสร้างผลิตภัณฑ์โดยใช้กระบวนการผลิตที่ส่งผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด โดยมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ ความปลอดภัยของประชาชน ชุมชนและผู้บริโภค ด้วยต้นทุนที่ประหยัด
แนวทางการพัฒนาไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน
1. นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้กับสายการผลิต
การเก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลในสายการผลิตที่เป็น Smart Data จากเครื่องจักรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล จะช่วยให้เห็นกระบวนการผลิตที่ไม่มีประสิทธิภาพ จึงนำไปปรับปรุงกระบวนการทำงานเพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้
ผู้ผลิตอาจติด QR Code หรือ RFID Tag ไว้บนผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ลูกค้าสแกนดูข้อมูลของผลิตภัณฑ์ได้ว่า ผลิตจากแหล่งใด ผลิตอย่างไร มี Carbon Footprint*1 อะไรบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภคตัดสินใจในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อย
*1 Carbon Footprint หมายถึงการประเมินปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ กระบวนการผลิต/การประกอบชิ้นงาน การจัดจำหน่าย การใช้งาน และการกำจัดของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน
2. ลดการปล่อยมลพิษด้วยระบบดิจิทัล
การทำให้ระบบและอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงานกลายเป็นระบบดิจิทัล ทำให้เข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว จึงนำข้อมูลมาวิเคราะห์และพัฒนาเป็นระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้ทำงานได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น โรงงานจึงสามารถผลิตชิ้นงานในปริมาณมากได้อย่างมีคุณภาพ ลดการสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็นและลดการใช้พลังงานและการปล่อยมลพิษลงได้ ตัวอย่างโซลูชันที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ เช่น
- โซลูชัน IoT (Internet of Things)
IoT คือการเชื่อมต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย สามารถส่งข้อมูลถึงกันได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ต ปัจจุบันเทคโนโลยี IoT ถูกนำมาใช้งานในโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ช่วยให้กระบวนการผลิตดำเนินไปได้ราบรื่นและรวดเร็ว สามารถดูข้อมูลการผลิตจากเครื่องจักรได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ที่หน้างานหรือไม่ เมื่อเกิดปัญหาในการผลิตก็จะเข้าไปแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการหยุดทำงานของเครื่องจักร (Downtime)
แนะนำโซลูชัน IoT สำหรับตรวจสอบและแสดงผลข้อมูลแบบเรียลไทม์
- Smart systems
การติดตั้ง Smart systems หรือระบบอัจฉริยะเพื่อเฝ้าติดตามอุปกรณ์ต่างๆ ในโรงงาน เช่น ดูปริมาณการใช้ไฟฟ้าของเครื่องจักรและอุปกรณ์สำนักงาน ทำให้นำไปวางแผนควบคุมปริมาณการใช้ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และนำไปสู่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า
นอกจากนี้ ระบบอัจฉริยะยังช่วยให้เก็บข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ได้ครบถ้วน จึงตรวจสอบย้อนกลับได้ไม่ยาก
- ระบบอัตโนมัติ
หลายๆ โรงงานมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในสายการผลิต เช่น ใช้หุ่นยนต์ช่วยประกอบชิ้นส่วน หยิบจับชิ้นงาน ขนย้ายสินค้า จัดเรียงสินค้า เป็นต้น หุ่นยนต์สามารถทำงานแทนคนได้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย และยังมีความถูกต้องแม่นยำ ช่วยให้ได้งานที่มีคุณภาพและลดต้นทุนด้านแรงงานได้
นอกเหนือจากหุ่นยนต์ที่เป็น Hardware แล้ว ยังสามารถใช้ระบบซอฟต์แวร์หุ่นยนต์อัตโนมัติ (Robotic Process Automation: RPA) มาช่วยในการทำงานเอกสารอีกด้วย โดยเฉพาะงานที่ต้องทำซ้ำๆ เช่น ป้อนข้อมูลลงในระบบคอมพิวเตอร์ ดึงข้อมูลจากไฟล์หนึ่งไปกรอกในอีกไฟล์หนึ่ง เมื่อนำ RPA มาช่วยทำงานเหล่านี้ ก็จะทำให้พนักงานมีเวลาไปทำงานอื่นมากขึ้น
ตัวอย่างการใช้งาน RPA สำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและโรงงาน
บทสรุป
เทคโนโลยีดิจิทัลถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยนำไปสู่การผลิตที่ยังยืนได้ ผู้ประกอบการสามารถรวบรวมข้อมูลเชิงลึกได้จากระบบอัจฉริยะ และใช้ประโยชน์จากข้อมูลมาพัฒนาการออกแบบ การผลิต และการประเมินผล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้แม่นยำมากขึ้น จึงช่วยลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็นในระหว่างการผลิต ลดปริมาณของเสีย และลดการปล่อยมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงได้
ที่มา: