Biometric มาจากคำว่า ไบโอ (Bio) หมายถึงสิ่งมีชีวิต และ คำว่าเมตริก (metrics) หมายถึงคุณลักษณะที่สามารถวัดค่า หรือประเมินจำนวนได้
Biometric Technology หมายถึงเทคโนโลยีในการแยกแยะหรือจดจำบุคคลโดยการใช้คุณลักษณะหรือพฤติกรรมบางอย่างที่เป็นเอกลักษณ์ ตัวอย่างข้อมูลทางไบโอเมตริก เช่น ใบหน้า จอตา ม่านตา รูปทรงของฝ่ามือ ลายนิ้วมือ เสียงพูด ลายมือเขียน เป็นต้น
การทำงานของระบบไบโอเมตริกจะอยู่บนพื้นฐานเดียวกับการทำงานของสมอง ช่วยให้การระบุตัวบุคคลทำได้อย่างแม่นยำโดยไม่จำเป็นต้องใช้รหัสผ่าน สมาร์ทการ์ด หรือลูกกุญแจ เหมือนวิธีการแบบเดิม
ลักษณะการใช้งานเทคโนโลยีไบโอเมตริก
1. การระบุตัวผู้ใช้ (Identification)
คือการจับคู่เปรียบเทียบแบบ 1:N โดยนำตัวอย่างหนึ่งไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่รวบรวมไว้ทั้งหมด แต่ต้องบันทึกข้อมูลไว้ในระบบก่อน เช่น การเก็บลายนิ้วมือด้วยเครื่องอ่านลายนิ้วมือ การถ่ายภาพใบหน้า หลังจากนั้นระบบจะจับคู่ข้อมูลที่ได้รับมากับข้อมูลทั้งหมดในฐานข้อมูล เพื่อระบุว่าเจ้าของข้อมูลเป็นใคร กระบวนการนี้ใช้เวลานาน เพราะระบบต้องเปรียบเทียบกับข้อมูลเป็นจำนวนมาก
2. การตรวจพิสูจน์ตัวผู้ใช้ (Verification)
คือการจับคู่เปรียบเทียบแบบ 1:1 โดยการนำตัวอย่างหนึ่งไปเปรียบเทียบกับข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ก่อนหน้า ผู้ใช้จะต้องป้อนรหัสประจำตัวหรือ PIN (Personal Identification Number) ของผู้ใช้ก่อน แล้วจึงค่อยส่งข้อมูลทางไบโอเมตริกให้กับระบบ หลังจากนั้นระบบจะตรวจดูว่าข้อมูลที่ได้รับมาตรงกับข้อมูลที่ได้ถูกบันทึกไว้ก่อนหน้านี้หรือไม่ กระบวนการนี้ใช้เวลาไม่นาน เพราะข้อมูลที่ต้องเปรียบเทียบมีไม่มาก
เทคโนโลยีไบโอเมตริกมีขั้นตอนอย่างไร
1. เก็บตัวอย่างคุณลักษณะที่ต้องการวัด เช่น สแกนลายนิ้วมือออกมาเป็นภาพถ่ายลายนิ้วมือ ถ่ายภาพใบหน้า
2. เก็บข้อมูลไบโอเมตริกจากตัวอย่างที่สแกนได้ เป็นการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณจากภาพถ่ายลายนิ้วมือ ซึ่งจะคำนวณด้วยอัลกอริทึมเฉพาะ
3. เปรียบเทียบข้อมูลเชิงปริมาณที่วัดได้กับข้อมูลที่ได้บันทึกไว้ก่อนหน้านี้ในฐานข้อมูลกลาง หรือบนสมาร์ทการ์ด
4. ตรวจสอบผลการเปรียบเทียบว่าตรงกันหรือไม่
5. สรุปว่าบุคคลนี้เป็นใคร (Identification) หรือเป็นตัวจริงตามที่กล่าวอ้าง (Verification) หรือไม่
ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกมาใช้
- งานด้านกฎหมาย: ใช้ในการสืบสวนการกระทำผิดทางอาญา ช่วยผู้รักษากฎหมายในการจับกุมตัวผู้กระทำผิด
- องค์กรหรือหน่วยงาน: ใช้ในองค์กรเกี่ยวกับการค้นคว้าและวิจัยที่เป็นความลับของบริษัทหรือของหน่วยงาน หรือใช้ควบคุมความปลอดภัยในการเข้าออกบริษัท
- การทหาร : ใช้ในเขตแดนและพรมแดนที่มีการค้าขาย ใช้ระวังภัยสำหรับบุคคลสำคัญ หรือตรวจสอบพาสปอร์ตในรูปแบบ E-passport โดยบันทึกข้อมูลไบโอเมตริก เช่น ลายนิ้วมือและรูปใบหน้าไว้ใน Contact less Integrated Circuit ซึ่งฝังอยู่ใน passport
- การรักษาความปลอดภัยของระบบเน็ตเวิร์ก: ใช้ในธุรกิจองค์กรอินเทอร์เน็ต, Extranet หรือระบบเครือข่ายซึ่งเชื่อมเครือข่ายภายในองค์กรเข้ากับระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่ภายนอกองค์กร และใช้ในการ VPN เป็นต้น
- งานด้านธนาคาร: ใช้กับ ATM, และการทำธุรกรรมกับทางธนาคารต่างๆ
- ความปลอดภัยสำหรับบุคคล: ใช้รักษาความปลอดภัยสำหรับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ระบบล็อกประตูห้อง การเรียนแบบออนไลน์ เป็นต้น
บทสรุป
เทคโนโลยีไบโอเมตริกช่วยตรวจสอบความถูกต้องของบุคคลจากลักษณะทางกายภาพของมนุษย์ สามารถแยกความแตกต่างของทุกคนได้ จึงช่วยในเรื่องความปลอดภัย ป้องกันการแอบอ้างสิทธิของบุคคลอื่น จึงเป็นประโยชน์แก่องค์กรและหน่วยงานต่างๆ แต่การนำเทคโนโลยีไบโอเมตริกมาใช้ ควรพิจารณาถึงหลายปัจจัย ทั้งทางด้านการลงทุน ความจำเป็น และความเหมาะสมกับลักษณะงานขององค์กร
ภาพจาก