จ่ายไว ไร้แคชเชียร์ด้วย Walk-Through Cashless Payment

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Walk-Through Cashless Payment หรือ Cashierless Technology (เทคโนโลยีไร้แคชเชียร์) กันมาบ้างแล้ว เป็นเทคโนโลยีสำหรับรองรับพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้คนปัจจุบันซึ่งเริ่มลดการออกจากบ้านแล้วหันมาซื้อของผ่านทางออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากกลัวที่จะออกไปเจอผู้คนเยอะๆ และมีความเบื่อหน่ายที่จะต้องต่อคิวจ่ายเงินและรอเงินทอน

บริษัทแรกที่ริเริ่มเทคโนโลยีนี้คือ Amazon ซึ่งเป็นอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของโลก ได้เปิดตัว Amazon Go อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2018 ซึ่งเมื่อลูกค้าเข้ามาใช้บริการ สามารถหยิบสินค้าที่ต้องการแล้วเดินออกจากร้านได้เลย ระบบจะตัดบัญชีจากระบบชำระเงินในมือถือของลูกค้าให้อัตโนมัติ หลังจากนั้นก็มีบริษัทอื่นๆ เริ่มทยอยใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้น

ตัวอย่างร้านค้าที่ใช้เทคโนโลยีจ่ายไวไร้แคชเชียร์นี้ ได้แก่

Amazon

Amazon บริษัทอีคอมเมิร์ชของสหรัฐอเมริกา ได้ทำการเปิดตัว Amazon Go ร้านสะดวกซื้ออัจฉริยะไร้แคชเชียร์เป็นรายแรก  

ปัจจุบันร้าน Amazon Go ขยายสาขาไปกว่า 20 แห่ง และในปี 2020 ทาง Amazon ก็เริ่มเปิดขายระบบ “Just Walk Out” ที่ใช้เทคโนโลยีสำหรับร้านค้าไร้แคชเชียร์รูปแบบเดียวกับ Amazon Go โดยผู้ค้าปลีกที่สนใจสามารถซื้อระบบนี้ไปติดตั้งที่ร้านได้ และยังได้ใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ต Amazon Fresh ซึ่งเป็นของ Amazon เองอีกด้วย

ระบบ “Just Walk Out” ใช้เทคโนโลยีการผสมผสานระหว่างกล้อง, เทคโนโลยี Sensors Fusion, เทคนิค Computer Vision และการประมวลผลแบบ Deep Learning เพื่อให้ลูกค้าสามารถเลือกซื้อของและเดินออกจากร้านได้โดยไม่ต้องรอต่อแถวจ่ายเงิน (Cashierless Convenience Stores)

ปัจจุบันเทคโนโลยี Just Walk Out ถูกนำมาใช้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตอย่างร้าน Whole Foods Market, ร้านกาแฟ Starbucks และสนามกีฬาบางแห่งอย่าง Major League Baseball Stadium ในประเทศสหรัฐอเมริกา

เมื่อเดือนเมษายนปี 2021 Amazon ได้เปิดตัว Amazon Salon สาขาแรกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นเหมือนร้านทำผมทั่วไปแล้ว ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องต่างๆ เช่น ใช้เทคโนโลยี AR (Augmented Reality) เป็นตัวช่วยในการนำเสนอสีผมและทรงผมของลูกค้า และยังใช้เทคโนโลยี “point-and-learn” ในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม

เพียงลูกค้าชี้ไปที่ผลิตภัณฑ์ที่จัดแสดงอยู่บนชั้นวาง ข้อมูลของผลิตภัณฑ์นั้น รวมไปถึงวิดีโออธิบายแบรนด์ผลิตภัณฑ์ และเนื้อหาที่มีประโยชน์ต่อลูกค้าก็จะแสดงขึ้นมาบนหน้าจอ หากลูกค้าสนใจสั่งซื้อ ก็สามารถสแกน QR Code เพื่อสั่งซื้อบนหน้าเว็บ Amazon จากนั้น สินค้าจะถูกจัดส่งไปให้ถึงบ้าน

ในอนาคตคาดว่า Amazon น่าจะมีการขยายธุรกิจออกไปอีกหลายประเภท เช่น โรงภาพยนตร์ ร้านอาหาร และสถานออกกำลังกาย

ร้านสะดวกซื้อ Lawson

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2022 Lawson Japan ได้เปิดสาขา Lawson Go ประเภท walk-through cashless payment ที่อาคาร Mitsubishi Shokuhin ในเขต Bunkyo ของโตเกียว เป็นการสร้างประสบการณ์ในการช้อปปิ้งแบบไร้เงินสด และไม่มีพนักงานแคชเชียร์ ช่วยลดเวลาต่อคิวชำระเงินที่แคชเชียร์ได้ แต่ลูกค้าจะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Lawson Go แล้วลงทะเบียนบัตรเครดิตไว้ล่วงหน้าให้เรียบร้อย แล้วแอปจะแสดง QR Code ให้ลูกค้านำไปสแกนเข้าร้านได้

ตอนนี้ Lawson Go อยู่ในระหว่างการทดสอบที่สาขาแรก ก่อนจะขยายไปสู่สาขาอื่นๆ ซึ่งได้ผลตอบรับมากมาย เช่น เพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้ลูกค้า ช่วยให้พนักงานมีเวลาว่างในช่วงพักเที่ยงมากขึ้น แต่ก็มีบางเสียงที่กังวลเรื่องการขโมยสินค้า และความผิดพลาดในการทำงานของเซนเซอร์

Sensei

สตาร์ทอัพแบบไร้แคชเชียร์จากโปรตุเกส ที่เปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2021 โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการชำระเงินแบบไร้แคชเชียร์จะช่วยลดการพบปะและสัมผัสกันระหว่างบุคคลที่อาจเป็นสาเหตุให้ติดเชื้อได้

ปัจจุบัน Sensei มีเพียงสาขาเดียวที่ตั้งอยู่ในห้าง Sonae เมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส มีการใช้ระบบที่คล้ายกับ Amazon Go และ Amazon Fresh คือมีระบบกล้อง เซนเซอร์ และชุดคำสั่ง AI เพื่อติดตามการเคลื่อนไหวของลูกค้า รวมถึงตรวจจับเมื่อลูกค้าหยิบสินค้าออกหรือนำเข้าชั้นวาง ซึ่งทางทีมพัฒนาของ Sensei ก็มีแผนจะขยายและเปิดตัวร้านค้าใหม่เพิ่มเติมในอนาคต

JD.com

บริษัทอีคอมเมิร์ซเจ้าใหญ่อันดับ 2 ของจีนอย่าง JD.com ก็มีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Unmanned Store” เช่นกัน มีการเปิดตัวสาขาแรกที่กรุงปักกิ่งในเดือนตุลาคม 2017 และเปิดตัวในต่างประเทศในปี 2018 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

การใช้งานในประเทศจีนนั้น จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “WeChat” ก่อนเข้าร้าน โดยภายในร้านมีการใช้ระบบ RFID (Radio Frequency Identification) กล้องจดจำใบหน้า และเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวเมื่อเราหยิบหรือวางสินค้าบนชั้น

รวมถึงยังสามารถติดตามพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้า เพื่อที่เจ้าของร้านจะสามารถจัดเตรียมสินค้าได้อย่างครบถ้วนเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

ปัจจุบัน JD มีร้านค้าประเภทนี้กว่า 20 แห่งในจีน และในอินโดนีเซียมียอดขายมากกว่า 350,000 SKUs และให้บริการแก่ผู้บริโภคมากกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศ

ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างร้านค้าที่ใช้ระบบ walk-through cashless payment ปัจจุบันถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่ผู้คนจะเริ่มตอบรับการใช้เทคโนโลยีทางการเงินที่ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงหลังโควิดที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในอนาคตเราก็น่าจะได้เห็นร้านค้ารวมถึงสถานบริการต่างๆ ที่ให้บริการแบบจ่ายไวไร้แคชเชียร์เพิ่มขึ้น

ภาพ:

https://www.freepik.com/

    wpChatIcon