เพื่อนๆ ทราบไหมครับ จำนวนการใช้งานอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ได้เพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัวตลอด 5 ปีที่ผ่านมา สิ่งเหล่านี้เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น Smartwatch ที่เราใส่ไว้ติดตามข้อมูลการออกกำลังกายและข้อมูลด้านสุขภาพ อุปกรณ์ Smart home ที่เราสามารถควบคุมสั่งการผ่าน Internet ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
หรือแม้แต่การใช้อุปกรณ์ Smartphone ที่เปลี่ยนพฤติกรรมการเชื่อมต่อและใช้งานสิ่งต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น การใช้งาน Social media การใช้งาน แอปพลิเคชันออนไลน์ต่างๆ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ทุกสิ่งที่กล่าวไปนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นอุปกรณ์ IoT ทั้งสิ้น
การรวบรวมข้อมูลการใช้งานจากอุปกรณ์เหล่านี้ นำไปสู่ความสามารถในการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้งาน ความสนใจ และความชื่นชอบในสิ่งต่างๆ จึงได้เกิดเป็นแนวคิด Internet of Behavior (IoB)
ทำความรู้จักกับ Internet of Behavior (IoB)
การ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก ได้กล่าวไว้ว่า Internet of Behavior เก็บรวมรวมข้อมูลดิจิทัลในทุกๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนจากแหล่งข้อมูลต่างๆ โดยองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสามารถนำเอาข้อมูลนี้ไปใช้เพื่อชี้นำพฤติกรรมได้
จากมุมมองของนักจิตวิทยาความเป็นมนุษย์ (Human Psychology) ได้กล่าวไว้ว่า แนวคิด IoB มุ่งไปที่วิธีการทำความเข้าใจข้อมูลอย่างถูกต้อง และนำความเข้าใจนั้นไปใช้ในการสร้างและส่งเสริมผลิตภัณฑ์ใหม่
เราลองสังเกตพฤติกรรมการใช้งาน Web Application เช่น เวลาเราสั่งซื้อสินค้าผ่านเว็บออนไลน์โดยใช้ Laptop หรือจะหยิบ สมาร์ทโฟนขึ้นมาค้นหาสินค้าที่ต้องการ ไม่ว่าจะพิมพ์ชื่อสินค้า คลิกปุ่มต่างๆ เลื่อนหน้าจอไปมา หรือค้างที่หน้าใดหน้าหนึ่งนานๆ สิ่งเหล่านี้สามารถรวบรวมเป็นข้อมูลไว้สำหรับวิเคราะห์พฤติกรรม เมื่อรวบรวมข้อมูลได้เป็นจำนวนมากแล้ว ข้อมูลเหล่านี้จะประกอบกันเป็นแนวคิดที่เรียกว่า Big Data ขั้นตอนต่อจากนี้จะเป็นบทบาทของ IoB นั่นเอง
IoB เป็นกระบวนการในการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้งานในแง่ของจิตวิทยาพฤติกรรม (Behavioral Psychology) ซึ่งจากการวิเคราะห์นี้ นำไปสู่แนวทางใหม่ในการพัฒนา User Experience (UX) การเพิ่มประสิทธิภาพในการค้นหา (Search Experience Optimization หรือ SXO) และการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงวิธีการโปรโมตสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาได้
Internet of Behavior (IoB) มีประโยชน์มากมายหลายประการ เช่น
- วิเคราะห์พฤติกรรมการซื้อของลูกค้าข้ามแพลตฟอร์ม
- ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีที่ลูกค้าโต้ตอบกับอุปกรณ์และผลิตภัณฑ์
- วิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับ Customer Journey ว่าลูกค้าต้องการอะไร ผ่านช่องทางไหน จะสร้างความน่าประทับใจที่มีต่อแบรนด์ได้อย่างไร จะทำอย่างไรให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้า
- การแจ้งเตือนและการโฆษณาต่อลูกค้า ณ จุดขาย
- การแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็วเพื่อปิดการขายและทำให้ลูกค้าพึงพอใจ เป็นต้น
การประยุกต์ใช้ IoB เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ และมีหลายธุรกิจที่เริ่มนำ IoB มาใช้แล้ว เช่น
- บริษัท BMC พัฒนาแอปพลิเคชันเกี่ยวกับสุขภาพสำหรับสมาร์ทโฟนเพื่อติดตาม เก็บข้อมูลสุขภาพ และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ใช้งาน แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อระบุระดับสุขภาพ และแนะนำให้ผู้ใช้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น
- Unacademy บริษัท Startups ที่ให้บริการด้านการศึกษาออนไลน์ ใช้ IoB เพื่อช่วยผู้ใช้บริการในการวางแผนคอร์สเรียนออนไลน์ให้เหมาะสมกับความต้องการ และแผนการประกอบอาชีพในอนาคต
- บริษัท Intel ใช้ Facial recognition ในการศึกษาพฤติกรรมของพนักงาน และนำไปเป็นเกณฑ์ความเสี่ยงด้านการดำเนินธุรกิจ
- บริษัท PwC นำ IoB ไปใช้ในการติดตามการทำงานในรูปแบบ Work from home ของพนักงาน
- Facebook และ Google นำข้อมูลพฤติกรรมของผู้ใช้งานมาวิเคราะห์เพื่อแสดงโฆษณาให้สอดคล้องกับความสนใจของแต่ละบุคคล ช่วยให้ธุรกิจที่ลงโฆษณาเชื่อมต่อกับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มอัตราการคลิกผ่าน CTR (จำนวนคลิกที่โฆษณาได้รับหารด้วยจำนวนครั้งที่โฆษณาปรากฏ) ได้มากขึ้น
- YouTube ติดตามพฤติกรรมการรับชมคลิปวิดีโอของผู้ใช้ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ในการรับชมในระดับบุคคล เช่น การแนะนำคลิปวิดีโอที่คาดว่าจะสนใจ เป็นต้น
ถึงแม้ว่าการรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภคไปวิเคราะห์จะมีประโยชน์มากมาย แต่ในทางกลับกัน ข้อมูลเหล่านั้นก็ถือว่าเป็นข้อมูลของผู้บริโภคหรือเป็นข้อมูลของผู้รวบรวม จึงทำให้มีประเด็นการโต้แย้งเกี่ยวกับ Data privacy ซึ่งยังถกเถียงกันอยู่ เนื่องด้วยปัจจุบันมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับ PDPA ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล
นอกจากนี้ ยังมีความกังวลด้าน Cybersecurity ที่เป็นการปกป้องข้อมูลสำคัญจากการถูกโจรกรรม เมื่อไหร่ก็ตามที่ข้อมูลมีการรั่วไหลหรือถูกขโมยไปโดยกลุ่มมิจฉาชีพ อาจถูกนำไปสร้างเป็นกลลวงขึ้นมาหลอกผู้บริโภคได้
เทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้นการนำเทคโนโลยี IoB มาใช้เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ จะต้องคำนึงถึงความปลอดภัย จริยธรรม และความมั่นใจของผู้บริโภคที่มีต่อการจัดเก็บและประมวลผลข้อมูลเหล่านั้นด้วยเช่นกัน
ที่มา: