Artificial Intelligence (AI)
AI หรือปัญญาประดิษฐ์ คือความสามารถของคอมพิวเตอร์ในการทำงานที่จำเป็นต้องใช้การคิดวิเคราะห์ ซอฟต์แวร์ AI สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้ เนื่องจากมีการเขียนโปรแกรมให้ระบบเรียนรู้ข้อมูลจำนวนมากในอดีต ขอบเขตของ AI ในปัจจุบันมีตั้งแต่ระบบที่ช่วยในการมองเห็นและจดจำภาพ ไปจนถึงเครื่องมือการเรียนรู้เชิงลึกที่ประมวลผลข้อมูลปริมาณมหาศาลเพื่อเรียนรู้รูปแบบของข้อมูลและให้ข้อมูลสำหรับตัดสินใจในเรื่องต่างๆ
Enterprise Resource Planning (ERP)
ระบบการวางแผนทรัพยากรขององค์กร (ERP) เป็นระบบที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพและน่าเชื่อถือในการจัดการและประมวลผลข้อมูล อย่างไรก็ตามระบบ ERP ยังจำเป็นต้องให้ผู้ใช้งานป้อนข้อมูลเข้าสู่ระบบ และจะต้องปรับเปลี่ยนข้อมูลเพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนไป โดยหลังจากระบบประมวลผลข้อมูลแล้วจะให้ผลลัพธ์แก่ผู้ใช้งานเพื่อนำไปตัดสินใจทางธุรกิจ รับรู้รายได้ และจ่ายค่าจ้างให้พนักงาน เป็นต้น
หลายปีที่ผ่านมา ระบบ ERP มีการพัฒนาเพื่อให้ทันสมัยขึ้น เช่น การป้อนข้อมูลที่ง่ายขึ้นและเป็นอัตโนมัติ การแจ้งเตือนและส่งข้อความเมื่อเกิด event ต่างๆ ในระบบ การใช้เครื่องมือสร้างภาพและรายงาน ระบบ ERP หลายๆ ระบบเปลี่ยนมาทำงานบนระบบคลาวด์ และรองรับการทำงานได้บนหลากหลายอุปกรณ์ แต่ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ก็ไม่ได้ปรับเปลี่ยนลักษณะพื้นฐานของระบบ ERP
AI ใน ERP คืออะไร?
เทคโนโลยี AI ในระบบ ERP ถูกนำมาใช้กับงานที่แต่เดิมจำเป็นต้องใช้ความสามารถของมนุษย์ เช่น การบริหารจัดการข้อมูลทางธุรกิจ การวิเคราะห์ข้อมูล การทำรายงาน เมื่อนำซอฟต์แวร์ AI เข้ามาใช้ จะช่วยให้ระบบเรียนรู้และทำงานเหล่านี้ได้มากขึ้นเรื่อยๆ แทนที่จะต้องให้คนมาคอยตรวจสอบข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากเอง
ตัวอย่างการใช้ AI ในการทำงาน เช่น การใช้ Chatbot มาช่วยในการสนทนากับลูกค้าผ่านการส่งข้อความพูดคุย ตอบคำถาม รับ order สินค้า ส่งข้อมูลไปออกรายงาน อัปเดตสถานะการทำงาน ยืนยันการรับสินค้า เป็นต้น จึงไม่จำเป็นต้องมีคนคอยตอบคำถามลูกค้าหรือป้อนข้อมูลต่างๆ ในระบบเหมือนที่ผ่านมา
การใช้ AI ในระบบ ERP ยังช่วยแก้ปัญหาความไม่ถูกต้องของข้อมูล ERP ทั่วไปได้ เช่น กรณีที่ขาดข้อมูลที่จำเป็นในการประมวลผล หรือข้อมูลที่มีอยู่ไม่มีการอัปเดต และเนื่องจาก AI เข้าถึงข้อมูลจำนวนมากและประมวลผลได้ดีกว่าคน จึงให้ข้อมูลที่จำเป็นในการตัดสินใจได้ เช่น ทำให้เห็นประเภทของสินค้าที่จะสร้างผลกำไรให้ธุรกิจมากที่สุด ราคาค่าบริการที่เหมาะสมที่ควรเรียกเก็บจากลูกค้า หรือวิเคราะห์พนักงานมีแนวโน้มที่จะลาออกจากบริษัท เป็นต้น การให้ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ AI แตกต่างจาก process automation อื่นๆ
ตัวอย่างของ AI ที่ช่วยส่งเสริมกระบวนการในระบบ ERP
หุ่นยนต์เคลื่อนที่อัตโนมัติ
หุ่นยนต์ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์และการผลิตสินค้าอื่นๆ มาเป็นเวลานาน ปัจจุบันหุ่นยนต์เหล่านี้มีวิวัฒนาการไปจนสามารถเคลื่อนที่และทำงานเองได้อัตโนมัติ มีการใช้เทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติประกอบกับแผนที่แบบ 2 มิติหรือ 3 มิติ ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนย้ายสินค้าในคลังสินค้าแทนคนได้
แชทบอท
แชทบอททำหน้าที่คล้ายกับผู้ช่วยของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแผนกบริการลูกค้า ทำให้ลูกค้าสามารถสอบถามข้อมูล ตลอดจนช่วยพนักงานบันทึกข้อมูลลงในระบบ หรือตรวจสอบข้อมูลจากระบบและสามารถตอบลูกค้าได้ทันที ความสามารถของแชทบอทมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และมีประโยชน์มากสำหรับการทำธุรกิจในปัจจุบัน เนื่องจากช่วยลดต้นทุนการจ้างพนักงานได้อย่างดี
การขาย
เครื่องมือ AI เข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลในอดีตจำนวนมากของลูกค้าได้ จึงช่วยปรับปรุงการขาย เช่น แนะนำลูกค้าเป้าหมาย แนะนำการเพิ่มยอดขาย (Upsell) แนะนำสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้อง (Cross-sell) รวมทั้งให้ข้อมูลสำหรับกำหนดราคาสินค้าที่เหมาะสมได้
การตลาด
ด้านการตลาดสามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าที่รวบรวมโดย AI เช่น ข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ การพูดคุยกับฝ่ายบริการลูกค้า แล้วนำมาปรับปรุงสินค้าหรือบริการที่จะนำเสนอให้ลูกค้าได้
การวางแผนคลังสินค้า
อัลกอริทึมของ AI สามารถดึงข้อมูลจากระบบการสั่งซื้อ ระบบการผลิต และระบบคลังสินค้ามาประมวลผล และช่วยให้ใช้คลังสินค้าได้เกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนช่วยในการจัดวางตำแหน่งของสินค้าและวัตถุดิบเพื่อให้สะดวกในการหยิบใช้
แผนการผลิต
AI ช่วยวางแผนการผลิตสินค้าในช่วงเวลาที่กำหนดเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ความรู้สึกของผู้บริโภค ตามสภาพอากาศ หรือปัจจัยอื่นๆ ได้
ทรัพยากรบุคคล
ทรัพยากรบุคคลหรือพนักงานคือส่วนประกอบสำคัญขององค์กร เครื่องมือ AI สามารถคัดกรองและตรวจสอบข้อมูลพนักงาน รวมถึงตรวจสอบกระบวนการทำงานที่จำเป็นจะต้องใช้คนเป็นหลัก สามารถนำข้อมูลการทำงานในแต่ละกระบวนการมาวิเคราะห์ทั้งในด้านการประเมินผลการทำงาน และการจัดสรรพนักงานให้เพียงพอต่อการทำงานในแต่ละแผนก
บทสรุป
AI เป็นการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้ เพื่อให้ AI ประมวลผลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด เราต้องเลือกอัลกอริทึมที่อยู่ในเครื่องมือ AI มาใช้ฝึกอบรมข้อมูล แล้วจึงนำผลลัพธ์มาช่วยในการตัดสินใจทางธุรกิจ อย่างไรก็ตาม AI ไม่ได้มาแทนที่ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของ ERP แต่ AI จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบ ERP ได้
ที่มา: