บทความนี้สรุปเนื้อหาจาก podcast ของ The Standard หัวข้อ Neurotech ตอน 1 สมอง 84,000 ล้านเซลล์ โอกาสธุรกิจ | Executive Espresso EP.363
การสัมภาษณ์ครั้งนี้ ดำเนินการสัมภาษณ์โดย คุณเคน นครินทร์ นวกิจไพบูลย์ ผู้เข้าร่วมพูดคุย เป็นผู้เชี่ยวชาญสองท่าน คือ
- ดร. จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ (ดร.ทิว) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Quantum Technology Foundation (Thailand) หรือ QTFT
- ดร. ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ (ดร. ชอน) หัวหน้าหน่วยวิจัยแนวหน้า ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
Neuroscience คืออะไร ทำไมต้องรู้
Neuroscience เป็นศาสตร์ที่เราพยายามทำความเข้าใจการทำงานและกลไกของสมอง ว่าตอบโจทย์ด้านพฤติกรรมของมนุษย์อย่างไร เช่น สมาธิ มีการเคลื่อนสมาธิอย่างไร มีกลไกแบบไหน เราสามารถดึงสมาธิไปยังสิ่งที่มารบกวนเราได้อย่างไร โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากคลื่นสมอง
ดร. ชอนกล่าวว่า ศาสตร์นี้สำคัญกับเราเพราะเราทุกคนมีสมอง ดังนั้นผลจากการศึกษาเรื่องเหล่านี้จึงมีผลกระทบกับเราโดยตรง สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในเรื่อง Healthcare เช่น ตอนนี้เราเข้าสู่ aging society ปัญหาที่พบมากในผู้สูงอายุคือ โรคอัลไซเมอร์ จากสถิติผู้สูงอายุจำนวน 1 ใน 3 มีโอกาสที่จะเป็นโรค MCI (Mild Cognitive Impairment ความผิดปกติเล็กน้อยของความสามารถของสมอง) ทำให้เกิดเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ ซึ่งโรคนี้จะกระทบกับการดำเนินชีวิต ดังนั้นความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเกิดโรคและการดูแลจะทำให้เราสามารถเปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิต เพื่อชะลอการเกิดได้ หรือกรณีที่เกิดขึ้นแล้วก็ช่วยให้คนที่ต้องดูแลคนป่วยจากโรคนี้สามารถดูแลได้ด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง
อีกกรณีที่พบปัญหามากในสังคมปัจจุบันคือ สมาธิสั้นในเด็ก ซึ่งพบมากขึ้นกว่าสมัยก่อนมาก เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ Multimodal Media (สื่อที่หลากหลาย) ทำให้การจดจ่อของเด็กสั้นลง เมื่อเราเข้าใจว่าอะไรที่เข้ามารบกวนกลไกการทำงานของสมอง จนทำให้เกิดปัญหาเหล่านี้ ก็จะสามารถหาทางป้องกัน ดูแลและรักษาให้ตอบโจทย์ได้
ดร. ทิวมีความเห็นว่า ศาสตร์นี้น่าสนใจเพราะ สมองของมนุษย์ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นๆ ความเข้าใจนี้จะทำให้ปลดล็อคศักยภาพและวิวัฒนาการ ทำให้มนุษย์เราก้าวข้ามไปอีกขั้นหนึ่งได้ ซึ่งสามารถขยายประโยชน์นอกจากการแพทย์ ไปยังด้านอื่นๆ ได้ เช่น เรื่องการใช้แรงงาน , professional service, ในอนาคตอาจผสมผสานเข้ากับ Metaverse ผลิตเป็น gadget ต่างๆ
อย่างที่เราเห็นตามสื่อต่างๆ มนุษย์เรามีจินตนาการมาตลอดเรื่องการขยายผลเกี่ยวกับแนวทางนี้ เช่น งานของอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ที่พยายามฝัง wireless chip ไว้ในสมอง หรืออย่างในซีรียส์ Netflix เรื่อง Black Mirror ต่อไปมนุษย์เราอาจไปถึงขั้นเปลี่ยนความเข้าใจ หรือดึงความจำบางอย่างออกมาจากสมองได้
ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านถกกันในประเด็นนี้ว่า ความยากคือ การที่จะประมวลความคิด การตัดสินใจหรือการรับรู้บางอย่าง ในสมองมีการใช้ปฏิกิริยาสื่อสารระหว่างเซลล์ซึ่งซับซ้อนมากๆ เซลล์สมองเซลล์เดียว ไม่สามารถกระตุ้นให้เกิดผลอะไรได้ แต่จะเกิดเมื่อกลุ่มเซลล์อยู่รวมกันเป็นโครงข่าย การที่การทดลองจะไปถึงจุดนั้นได้ ไม่ได้อาศัยแค่เทคโนโลยีอย่างเดียว แต่ต้องผสานความสามารถของโปรแกรม AI และความรู้ด้านประสาทวิทยา เพื่อเป็นแนวทางให้โมเดลที่กำลังพัฒนาทำงานให้ได้เหมือนสมองมากที่สุด
ในงานทดลองของอีลอน มัสก์ เกี่ยวกับ Brain Computer Interface (BCI) หรือการติดต่อกันโดยตรงระหว่างคลื่นสมองของมนุษย์กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ในทางจินตนาการคาดหวังไว้ถึงความสามารถที่จะทำงานได้สองทิศทาง คือ อ่าน และเขียนข้อมูลระหว่างคอมพิวเตอร์และสมองมนุษย์ ซึ่งการเขียนน่าจะยากกว่า
ถ้าเป็นในแง่ของเครื่องจักร (Machine) ก็ต้องมีการเรียนรู้หาทางทำให้มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของวัสดุ (เช่นเดียวกับที่เราทำการบันทึกเทป ซีดี แผ่นเสียง) ในทำนองเดียวกันในแง่ของประสาทวิทยาก็จะเป็นเรื่องของ plasticity คือ การเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเครือข่ายในสมอง ในระดับเซลล์จะมีช่องว่างระหว่างนิวรอนสองตัว เรียกว่า synapse ซึ่งเมื่อนิวรอนสองตัวมาอยู่ใกล้กัน จะมีการสื่อสาร เกิดการผูกกันในช่องว่างนี้ ส่งผลให้เกิดเป็นความจำบางอย่างขึ้นมา
การเกิดของ synapse มีความซับซ้อนมาก ดังนั้นการที่จะไปเขียนลงบนความทรงจำถือเป็นเรื่องซับซ้อนและยากมาก แต่การกระตุ้นให้สมองตื่นตัวนั้นเป็นไปได้ เพราะเป็นแค่การเปลี่ยนสภาวะ (state) ของสมองเท่านั้น การที่จะไปเปลี่ยนแปลงความทรงจำนั้น การทำให้ลืมอาจจะเป็นไปได้ แต่การเขียนเติมเข้าไปอาจจะเป็นเรื่องที่ยังยากมากสำหรับความรู้และเทคโนโลยีในตอนนี้
สมองทำงานอย่างไร อธิบายง่ายๆ
ดร. ชอนอธิบายว่า หน่วยย่อยที่สุดของสมอง คือ นิวรอน ซึ่งนิวรอนอยู่รวมกันในลักษณะที่ไม่ได้เป็นร่างแห แต่มีช่องว่างของมันอยู่ ก็คือ synapse ในนี้มีการส่งสารสื่อประสาทกันระหว่างเซลล์
ยกตัวอย่างเช่น การมองเห็นของคนเรา สมองจะเปลี่ยนสัญญาณแสงไปเป็นสัญญาณไฟฟ้า เพื่อประทุและสื่อสารซึ่งกันและกัน สัญญาณที่ประทุนั้นเกิดเป็นการรับรู้ภาพ การรับรู้ต่างๆ ของมนุษย์เกิดจากการแปลงสัญญาณต่างๆ ให้เป็นไฟฟ้าในลักษณะนี้ โครงข่ายประสาทของเราเชื่อมต่อกันเป็นลักษณะของ RC Circuit มีไฟฟ้าไหลเวียน คนฉลาดนั้นจะมีการส่งสัญญาณที่เร็วกว่า แต่ก็ขึ้นอยู่กับการคัดเลือกข้อมูลที่เข้ามาในสมองอย่างจำเพาะเพื่อนำไปประมวลผลด้วย เมื่อการประทุระหว่าง synapse เกิดขึ้นซ้ำๆ และเกิดเป็นสารเชื่อมต่อกันระหว่าง synapse จึงเกิดเป็นความทรงจำขึ้น
ความสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำกับอารมณ์ มีผลเกี่ยวเนื่องกัน เช่น อารมณ์กลัว เป็นอารมณ์ที่มีส่วนช่วยอย่างมากกับความอยู่รอดของเรา ช่วยให้เราระวังภัย อารมณ์กลัวทำงานร่วมกับความทรงจำทำให้เราตัดสินใจเลือกว่าจะต้องหยุด หรือสู้ หรือหนี แต่ถ้าอารมณ์กลัวเชื่อมกับความทรงจำนี้มากเกินไป ก็จะกลายเป็นโรค PTSD (Post-traumatic Stress Disorder) หรือ ภาวะความผิดปกติทางอารมณ์ที่เกิดหลังพบเหตุการณ์ความเครียดที่สะเทือนใจ หรือเหตุการณ์ความรุนแรง นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างความทรงจำที่เชื่อมกับความพึงพอใจ ความสุข กระตุ้นให้เราเกิดความอยากได้อีก อยากทำอีก อย่างที่เอามาประยุกต์ใช้กันในด้านของ Reward System
พัฒนาการด้าน Neuroscience ในปัจจุบัน
ดร.ทิวอธิบายว่า เทคโนโลยีจับคลื่นไฟฟ้าจากสมองในปัจจุบันมีหลายแบบมาก เริ่มจากการใช้กระแสไฟฟ้า การวัด single cell โดยการผ่าตัดเปิดกะโหลกแล้วต่ออิเล็กโทรดตรงเข้าไปที่นิวรอน เมื่อจับค่าไฟฟ้าแล้วใช้ Machine Learning อ่านสัญญาณต่างๆ ที่เก็บได้ มาตีความว่า แต่ละเซลล์ทำงานอย่างไร ตอบสนองกับตัวกระตุ้นอะไร วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำกันแบบดั้งเดิมสมัยแรกๆ ซึ่งทำกับสัตว์
ต่อมามีการพัฒนาเทคโนโลยี multi-arrays มีอิเล็กโทรดหลายอันในชิปอันเดียว ทำให้สามารถวัดคลื่นสมองจากหลายเซลล์พร้อมกันได้ ปัจจุบันมีเทคนิคอื่นๆ หลากหลายมาก เช่น Calcium-Imaging โดยการเปิดกะโหลกแล้วส่งเชื้อไวรัสเข้าไป เชื้อไวรัสนั้นมีโปรตีนที่จะเข้าไปเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของสมอง เพื่อให้นิวรอนมีความสามารถในการตอบสนองต่อแสงฟลูออเรสเซนต์ได้ เวลานิวรอนทำงานเราสามารถติดตามการทำงานนั้นได้จากผลการตอบสนองต่อแสงนี้
เทคโนโลยีปัจจุบันนี้สามารถทำได้ถึงระดับ optogenetics ซึ่งเป็นเทคนิคทางชีววิทยาในการใช้แสงควบคุมเซลล์ มีการทดลองสามารถฉายแสงควบคุมให้หนูเลี้ยวซ้ายขวาได้ การทดลองนี้มนุษย์เราทำได้มาเป็นสิบปีแล้ว แต่พอขยับมาสัตว์ชนิดอื่น เช่น ลิง เกิดความยากขึ้น เพราะเชื้อไวรัสชนิดที่ใช้ในหนู ไม่สามารถเกิดผลได้ดีในลิง การควบคุมโดยเทคโนโลยี optogenetics นี้เป็นการควบคุมในทางพฤติกรรมเท่านั้น แต่ยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงในระดับความทรงจำได้
นอกเหนือจากการวัดปฏิกิริยาในสมองที่เป็นการเปิดกะโหลก (Invasive) แล้ว ยังมีการวัดอื่นๆ ที่วัดนอกกะโหลกได้ เช่น EEG Electroencephalography เป็นการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองนอกกะโหลก โดยปกติคลื่นไฟฟ้าที่เกิดในเซลล์ จะมีการพุ่งขึ้นมาที่กะโหลกด้วย แต่ผลการวัดจะไม่เหมือนกับเปิดกะโหลกโดยตรง เพราะเป็นสัญญาณที่มีการรวมคลื่นมาแล้วและมีสัญญาณรบกวนปนอยู่มาก
สัญญาณรบกวนนี้แบ่งออกเป็นสองชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ สัญญาณรบกวนจากภายนอกสมอง เช่น จากเครื่องมือหรือสภาพแวดล้อม และสัญญาณรบกวนภายใน ซึ่งเกิดระหว่างนิวรอนเอง เรียกว่า Neuronal Noise ซึ่งเป็นการผันผวนเกิดขึ้นแบบสุ่ม จุดนี้เป็นประเด็นที่นักวิทยาศาสตร์สนใจว่า สัญญาณรบกวนภายในที่เกิดขึ้นแบบสุ่มนี้มีความหมายอะไรหรือไม่ สมาธิช่วยลดสัญญาณนี้ได้หรือไม่อย่างไร พบว่าเวลาเราเพ่งสมาธิไปที่จุดต่างๆ ช่วยลดสัญญาณรบกวนนี้ได้
มีการวัดอีกวิธีที่แพร่หลาย คือ MRI ซึ่งเป็นการวัดค่าจากการเปลี่ยนแปลงของออกซิเจนในเลือดที่ไปเลี้ยงสมอง มีความแตกต่างกับ EEG ซึ่งวัดค่าไฟฟ้า ทั้งสองวิธีมีข้อดีข้อด้อยต่างกัน กระแสไฟฟ้ามีความไวกว่า แต่ต้องวัดจุดห่างกัน 1 ซม. จึงมีความหยาบในด้านพื้นที่การวัด ส่วน MRI จะมีความละเอียดกว่าในแง่พื้นที่ แต่การที่จะวัดค่าออกซิเจนได้ต้องใช้เวลามากกว่าในการอ่านค่า ปัจจุบันบางงานวิจัยก็ใช้ทั้งสองวิธีควบคู่กัน
การใช้ประโยชน์จากความรู้ด้าน Neuroscience ในเชิงธุรกิจ
ดร. ทิวมีความเห็นว่า ความเข้าใจด้าน Neuroscience สามารถทำให้ผู้บริหารสามารถเข้าถึงผู้บริโภคในระดับที่ลึกซึ้งขึ้นอย่างมาก เทคโนโลยี BCI ทำให้เข้าถึงความรู้สึกนึกคิดของเราได้โดยตรง เช่น
- การทำงานที่ต้องอาศัยสมาธิอย่างการทำงานกับเครื่องจักร การขับรถ ถ้าหากมีตัววัดต่างๆ ทำงานประสานกันก็จะควบคุมความปลอดภัยได้ดีขึ้น เช่น ใช้เซนเซอร์จับดวงตาจะรู้ว่าคนขับเริ่มง่วงนอน ก็สลับโหมดไปเป็น Auto Pilot หรือเปิดเพลงกระตุ้นให้ตื่นตัวได้ หรือส่งข้อมูลแจ้งเตือนไปยังศูนย์ควบคุม
- การตรวจสมรรถภาพของนักกีฬา มอนิเตอร์ว่าระดับสมองของนักกีฬากำลังอยู่ในสภาวะที่ดีหรือไม่ เพื่อส่งเสริมการฝึกซ้อม
- ในกรณีของ Metaverse ถ้าติด BCI เข้ากับอุปกรณ์ ทำให้ผู้ให้บริการรู้ถึงความรู้สึกนึกคิดของผู้ใช้บริการได้ด้วย
- โครงการอสังหาริมทรัพย์อยากรู้ว่าผู้อยู่อาศัยมีความสุขในการเข้าอยู่อาศัยหรือไม่ จากปกติที่จะใช้วิธีทำแบบสอบถามก็จะสามารถวัดจากสมองโดยตรงได้เลย
- ใช้เทคโนโลยี Internet of Brains (IoB) ซึ่งปัจจุบันเป็นงานวิจัยที่ทำกันมากในญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ ด้วยเทคโนโลยีนี้ทุกอย่างจะสามารถเชื่องโยงผ่านอินเตอร์เน็ต เพียงแค่สื่อสารผ่านสมอง ภาพใหญ่คือ การแปลงสัญญาณสมองเป็นสัญญาณ internet แล้วสื่อสารผ่านคลื่นสมองกันได้เลย
ในอนาคต อุปกรณ์ต่างๆ น่าจะเชื่อมเข้าด้วยกันหมด AI ที่วัดสมองด้วยวิธีแบบนอกกะโหลกมีสัญญาณรบกวนมาก ทำให้มีความจำเป็นต้องใช้ ML (Machine Learning ) ในการแปลงสัญญาณต่างๆ เพื่อที่จะอ่านแล้วนำมาใช้ประโยชน์ได้ แนวโน้มเรื่องอุปกรณ์น่าจะมีออกมาหลากหลายชนิดที่ทำงานประสานกัน เช่นตอนนี้ที่มีสมาร์ทโฟนกับสมาร์ทวอช ทำงานเชื่อมกัน ในอนาคตก็น่าจะมีอุปกรณ์แบบนี้ออกมาอีก
ดร. ชอน เสริมว่าในด้านของ BCI ยังมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า Closed Loop BCI เป็นการบันทึกกิจกรรมของระบบประสาทแบบเรียลไทม์เพื่อตัดสินใจว่า เมื่อไหร่ควรกระตุ้นสมองโดยตรงหรือโดยอ้อม ช่วยให้คนเราสามารถมอนิเตอร์สภาวะของตัวเองได้เลย สามารถให้ ML มาอ่านความรู้สึกของเราตอนนั้น แล้วประมวลผลออกมาว่าเรากำลังอยู่ในสภาวะไหน เช่น เครียดหรือง่วง แล้วแสดงผลออกมา เช่น ให้เราได้ยินเสียงหัวใจ เป็น Indicator ให้ตัวเอง เพื่อกระตุ้นให้เราหาทางจัดการตัวเองให้มีความตื่นตัวขึ้นหรือเครียดน้อยลง เพื่อให้ทำงานได้ดีที่สุด
นอกจากนี้ยังใช้วัดการมีส่วนร่วม (Engagement) ได้อีกด้วย ปัจจุบันมีการทดลองใช้จริงแล้ว โดยมีการผลิตเฮดแบนซึ่งสามารถอ่านคลื่นสมองได้ เชื่อมต่อกับโปรแกรมซึ่งวิเคราะห์ได้ว่าคู่สนทนาที่กำลังคุยกัน รับรู้เชื่อมโยงเป็นเรื่องเดียวกันอยู่หรือไม่ โดยวิเคราะห์จากคลื่นสมอง ว่าส่งกระแสไฟฟ้าไปในทำนองเดียวกัน สามารถเอาไปประยุกต์ใช้กับการตรวจสอบการมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ หรือความเข้าใจในการสื่อสารกัน และความเข้าใจในการเรียนรู้ได้
อีกทั้งเรายังสามารถเอา EEG หรือ Eye tracking มาใช้ในการเก็บข้อมูล เพื่อมาวิเคราะห์ในแง่เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมได้
Neuroscience ในประเทศไทย ทั้งในภาครัฐและภาคธุรกิจ
ดร. ชอน ให้ความเห็นว่า ตอนนี้ภาครัฐค่อนข้างสนับสนุนทุนทำวิจัย โดยเฉพาะหัวข้อเกี่ยวกับด้านนี้ที่เอาไปทำประโยชน์ทางด้านการแพทย์หรืออุตสาหกรรม นอกจากนี้องค์กรในไทยมีการทำวิจัยร่วมกับศูนย์อื่นๆ ทั่วโลก โดยจะเน้นด้าน Healthcare เป็นหลัก
ส่วนในภาคธุรกิจ หลายธุรกิจเริ่มสนใจ Neuroscience มากขึ้น เช่น ธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง well being เพราะเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับความเป็นอยู่ ความคิด และความรู้สึกของมนุษย์
ผู้เชี่ยวชาญทั้งสองท่านมีความเห็นว่า ถ้าสามารถผสมผสานองค์ความรู้ทางด้านนี้รวมกับเทคโนโลยีต่างๆ ทำให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทางภาคธุรกิจก็จะให้ความสนใจมากขึ้น แต่อยู่ที่เราตั้งโจทย์อย่างไรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น การกระตุ้นให้เกิดสมาธิ การกระตุ้นสมองส่วนควบคุมกล้ามเนื้อ เพื่อให้การออกกำลังกายดีขึ้น การกระตุ้นเพื่อส่งเสริมสมอง ชะลอความเสื่อม หรือประโยชน์เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นต้น