ความท้าทายของภาคธุรกิจไทยในวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 นับตั้งแต่ปี 2563 ที่แพร่กระจายรวดเร็วและรุนแรงส่งผลกระทบไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามควบคุมป้องกันอย่างเข้มงวดแล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ จำนวนยอดผู้ติดเชื้อรายวันยังมีปริมาณสูง ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างมาก ยิ่งการระบาดครั้งใหม่ระลอกสามนี้ (เริ่มในเดือนเมษายน 2564) ส่งผลกระทบอย่างหนักทำให้หลายภาคธุรกิจจำเป็นต้องลดต้นทุน เช่น ปลดพนักงาน ขายกิจการไปบางส่วน ขั้นหนักสุดจำใจถึงกับต้องปิดกิจการไปเพราะสู้ต่อไปไม่ไหว เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ หลายองค์กรจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินงานรูปแบบใหม่ ปรับเปลี่ยนวิธีการให้บริการ เพื่อบริหารจัดการองค์กรให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
เพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาดโควิด-19 ลดการแพร่เชื้อ จำเป็นต้องมีการเว้นระยะห่างทางสังคม หลายองค์กรมีนโยบายให้พนักงานทำงานได้จากที่บ้าน (Work from Home) สำหรับคนที่อ่านบทความนี้ นี่อาจจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีการทำงานจากที่บ้านเพื่อให้เข้ากับยุค New Normal การประชุมคุยงานทางระยะไกล (Conference Call Meeting) ผ่านโปรแกรม Microsoft Team, Webex, Zoom การใช้ Google Docs เพื่อจัดการเรื่องเอกสารผ่านช่องทางออนไลน์กันในทีม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนพึ่งพาเทคโนโลยีด้านไอทีทั้งสิ้น จากที่กล่าวมาข้างต้น โรคระบาดโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้หลายองค์กรต้องมีการปรับแผนการดำเนินธุรกิจอย่างเร่งด่วนเพราะหากยังดำเนินธุรกิจแบบเดิมอาจจะส่งผลเสียกับองค์กรได้ โดยหนึ่งในวิธีการที่หลายองค์กรนำมาใช้คือการพัฒนาและเพิ่มการลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยีด้านไอทีเข้ามาใช้งานในองค์กรแทนการทำงานในรูปแบบเดิม
ปกติองค์กรทั่วไปจะมีวิธีการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือนำเอาเทคโนโลยีด้านไอทีมาใช้งานกันอยู่แล้ว โดยจะมอบหมายให้พนักงานภายในแผนกไอทีเป็นผู้รับผิดชอบงานเหล่านี้ แต่ปัญหาที่พบคือพนักงานเหล่านั้นจะขาดทักษะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำได้เพียงดูแลระบบพื้นฐานทั่วไป ไม่สามารถสร้างซอฟต์แวร์ระดับองค์กรขึ้นมาใช้งานเองได้ เพื่อให้สามารถพัฒนางานด้านไอทีให้สำเร็จในระยะเวลาที่สั้นให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในช่วงสถานการณ์โรคระบาด รูปแบบการจ้างงานบริการไอทีเอาท์ซอร์ส (IT Outsourcing Services) จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย
ข้อมูลจาก THE BANGKOK INSIGHT พบว่าการ์ทเนอร์คาดการณ์มูลค่าการใช้จ่ายงานด้านไอทีในประเทศไทยจะเติบโตเพิ่มขึ้น 5% ในปี 2564 โดยซอฟต์แวร์ระดับองค์กรจะเติบโตสูงสุดที่ 13.6% รองลงมาคือด้านดาต้าเซ็นเตอร์เติบโต 10.9% ด้านอุปกรณ์ดีไวซ์เติบโต 9.5% บริการด้านการสื่อสารเติบโต 2.8% โดยคาดว่าปี 2567 ทุกองค์กรจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงธุรกิจไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์มากขึ้น ตัวอย่างการนำเทคโนโลยีด้านไอทีมาใช้ อาทิเช่น การนำเอาระบบมาใช้ในการอนุมัติเอกสาร (Work Flow System) การเก็บข้อมูลเป็นศูนย์กลางให้สามารถเข้าถึงจากที่ไหนก็ได้ที่มีอินเตอร์เน็ต (Data Center & Cloud Solution) การใช้ซอฟต์แวร์มาทำงานลักษณะซ้ำๆ รูปแบบเดิมแทนคน (RPA : Robotic Process Automation) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Prediction) เพื่อจะบอกได้ว่าพฤติกรรมลูกค้าที่ตอบสนองสินค้าจะเป็นอย่างไร การตัดสินใจทางการตลาดโดยคาดเดาจากข้อมูลที่มีอยู่และอาศัยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence / Machine Learning) เป็นต้น
6 เหตุผลข้อดีของการจ้างงานไอทีเอาท์ซอร์ส
1. ทักษณะความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
มีความรู้ ทักษะ ประสบการณ์งานเฉพาะด้าน รู้ลึกและรู้จริง เข้าถึงเทคโนโลยีใหม่อยู่เสมอ รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำเพื่อตอบสนองกับความต้องการทางธุรกิจ อีกทั้งยังให้คำปรึกษา แนะนำเทคนิคที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรได้อีกด้วย
2. เริ่มต้นงานได้อย่างรวดเร็ว
สามารถเริ่มพัฒนางานด้านไอทีได้ทันที ผู้จ้างงานเพียงแค่บอกสิ่งที่ต้องการและปัญหาของกระบวนการทำงานในปัจจุบัน เจ้าหน้าที่ไอทีเอาท์ซอร์สก็จะนำความต้องการนี้ไปวิเคราะห์ แนะนำให้คำปรึกษา ออกแบบและพัฒนาซอฟต์แวร์ขึ้นมาให้ใช้งานได้ทันทีในระยะเวลาที่รวดเร็ว
3. ทำงานจากที่ไหนก็ได้
จุดเด่นของงานด้านไอทีอย่างหนึ่งคือ พนักงานสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ พนักงานไอทีเอาท์ซอร์สก็เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเข้าไปนั่งประจำที่องค์กรของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาก็สามารถปฏิบัติงานได้ จึงตอบโจทย์วิถีชีวิตการทำงานแบบ New Normal และลดความเสี่ยงจากการแพร่กระจายของโรคระบาดโควิด-19
4. ต้นทุนต่ำและประหยัดเวลา
ไอทีเอาท์ซอร์สสามารถทำงานด้านไอทีได้ทันทีเพราะคนเหล่านี้มีประสบการณ์และคุ้นเคยกับงานด้านนี้อยู่แล้ว จึงช่วยประหยัดเวลาและต้นทุนในการพัฒนาฝึกฝนพนักงานประจำ ช่วยลดเวลาในการพัฒนางานด้านไอทีในองค์กรเอง ทำให้องค์กรมีเวลาไปมุ่งโฟกัสกับงานธุรกิจหลักที่สำคัญมากกว่า
5. มีความยืดหยุ่นสูง ความเสี่ยงต่ำ
การเลือกจ้างงานไอทีเอาท์ซอร์สทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการทำงานสูง เพราะมีทีมงานที่พร้อมดูแลระบบเครือข่ายและซอฟต์แวร์ภายในองค์กรอยู่ตลอดระยะเวลาในสัญญาการจ้างงาน จึงรับประกันได้ว่าหากมีพนักงานไอทีเอาท์ซอร์สลาออก บริษัทต้นสังกัดก็สามารถจัดหาพนักงานใหม่มาทดแทนได้ทันที ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดความเสี่ยงในการทำงานไม่ต่อเนื่องจึงมีน้อย
6. ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้หลังโรคระบาดโควิด-19
การจ้างงานไอทีเอาท์ซอร์สเป็นการปรับวิธีการทำงาน และการให้บริการขององค์กร เพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถแข่งขันกับคู่แข่งในสายธุรกิจเดียวกันได้และก้าวไปสู่ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์